การประชุมออนไลน์ครั้งที่ 11 ของการประชุมเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 10 เรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของคนพิการในเอเชียและแปซิฟิก อันเนื่องในโอกาสวันคนพิการสากล

Warunee Kuthithamee วารุณี ขัติเตมี รายงาน

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันคนพิการสากล” เพื่อเป็นการระลึกถึงวันครบรอบที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ มีมติรับแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ และได้ให้ประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจของสังคมต่อคนพิการ และยอมรับให้เข้าร่วมกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นโดยมุ่งส่งเสริมความเข้าใจปัญหาความพิการ และการสนับสนุนสำหรับศักดิ์ศรี สิทธิ และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้พิการ นอกจากนี้ยังมุ่งเพิ่มความตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้จากการรวมผู้พิการเข้ากับทุกแง่มุมของชีวิต การเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

สำหรับประเทศไทยเองนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ประกาศในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 โดยให้ความหมายของ “คนพิการ” ว่า เป็นบุคคลซึ่งมีความสามารถถูกจำกัดให้ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และการมีส่วนร่วมทางสังคมได้โดยวิธีการทั่วไป เนื่องจากมีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา และการเรียนรู้ และมีความต้องการจำเป็นพิเศษด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิต และมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป

Abia Akram ประธานที่ประชุม ซึ่งเป็น CEO ของ National Forum of Women with Disabilities ได้กล่าวว่า 10 ถึง 15% ของประชากรทั้งหมดเป็นคนพิการ ซึ่ง 50% นั้น เป็นผู้หญิงและเด็กหญิงที่มีความพิการ โดยมี 80% นั้นได้อาศัยอยู่ในชนบท และพวกเขาทั้งหมดก็กำลังเผชิญกับความท้าทายเดียวกันกับเราในเรื่องปัญหาสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และยิ่งในช่วงที่มีการระบาดใหญ่นี้เอง คนพิการถูกกักขังอยู่ในบ้าน และสถานการณ์ได้เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ซึ่งพวกเขาได้เจออุปสรรคต่าง อันได้แก่ อุปสรรคด้านโครงสร้างพื้นฐาน อุปสรรคในการสื่อสาร และที่สำคัญที่สุดคืออุปสรรคด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการที่จะพูดถึงเรื่องนี้ จากมุมมองของอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยสิทธิของคนพิการ และเนื่องจากเรากำลังพูดถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำให้เรามีประเด็นที่เกี่ยวกับกลยุทธ์ที่กล่าวถึงเรื่องสุขภาพทางเพศอย่างชัดเจนและมีประสิทธิผล ดังนั้นเราจะสามารถเชื่อมโยงจากระดับรากหญ้า ระดับประเทศ และระดับชาติไปสู่ระดับโลกได้อย่างไร

Setareki Macanawai CEO ของ Pacific Disability Forum ที่ประเทศฟิจิ ได้นำเสนอเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเข้าถึงการเข้ารับบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และความรุนแรง เนื่องจากเพศสภาวะสำหรับผู้หญิงและวัยรุ่นที่มีความพิการในภูมิภาคแปซิฟิก”

โดยองค์กร Women Enabled International (WEI) ได้ร่วมมือกับ Pacific Disability Forum (PDF) เพื่อจัดหาความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความพิการ ซึ่งการศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจาก UNFPA ซึ่งจัดทำใน 3 ประเทศสำคัญ ได้แก่ ประเทศฟิจิ ซามัว และวานูอาตู

โครงการนี้ได้ทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลจากรายงานเรื่อง "A Deeper Silence" ที่จัดทำโดย UNFPA ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวกับความต้องการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงพิการในประเทศคิริบาตี หมู่เกาะโซโลมอน และตองกา

วัตถุประสงค์ คือ เพื่อทำความเข้าใจต่ออุปสรรคในด้านต่าง ๆ ได้แก่ กฎหมาย นโยบาย สังคม และการสื่อสารที่ทำให้ผู้หญิงและเยาวชนคนพิการไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และการบริการด้านความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับผู้อื่น

การวิจัยประกอบด้วย:

  • การวิจัยภาคสนาม เป็นการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลกับผู้หญิงที่มีอายุ 24 ปีขึ้นไป เด็กหญิงและเด็กชายที่มีความพิการ อายุ 15 – 24 ปี โดยเป็นการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ รวมถึงการไปตรวจเยี่ยม
  • การวิจัยแบบทุติยภูมิ เป็นการทำแผนผังที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและนโยบาย


ในส่วนวัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้นั้น WEI และ PDF ได้พิจารณาถึงการเข้าถึงการให้การบริการของผู้หญิงและวัยรุ่นที่มีความพิการ อันได้แก่ ข้อมูลการคุมกำเนิด ผลิตภัณฑ์และการบริการ, การบริการด้านสุขภาพมารดาและทารกแรกเกิด, โปรแกรมการศึกษาชีวิตในครอบครัว, ข้อมูลการทดสอบและการรักษาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์, การบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง, การบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะหรือทางเพศ, การบริการด้านความยุติธรรมและการให้การรักษา, การบริการทางสังคมสำหรับผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะหรือทางเพศ และความพยายามในการป้องกันจากความรุนแรงเนื่องจากเพศสภาวะหรือทางเพศ

ข้อพิจารณา ที่สำคัญ ได้แก่

  • การรับฟังคำแนะนำจากองค์กรผู้พิการทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับภูมิภาค นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากไม่มีอะไรเกี่ยวกับเราถ้าหากไม่มีเรา
  • การส่งเสริมในด้านความทุพพลภาพให้มากขึ้น เนื่องจากทุกโครงการที่เกี่ยวข้องกับคนพิการที่เป็นกระแสหลักนั้นไม่เพียงพอ
  • การใช้ประโยชน์จากกิจกรรมที่วางแผนไว้ เพื่อพัฒนากลยุทธ์การตอบสนองต่อระดับภูมิภาคที่มีประสิทธิผล


ผลลัพธ์ คือ การรายงานภายในต่อ UNFPA เพื่อวิเคราะห์ผลการวิจัยและระบุข้อเสนอแนะระดับภูมิภาคที่สำคัญ

Dakshitha Wickremarathne, ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการของ Youth Advocacy Network ของประเทศศรีลังกา นำเสนอเรื่อง "We Hear You" หรือ “เราได้ยินคุณ” เป็นอภิธานศัพท์ภาษามือในเรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์สำหรับคนพิการทางการได้ยิน

ประเทศศรีลังกามีจำนวนประชากร 20 ล้านคน ซึ่งคนพิการในศรีลังกามีมากกว่า 1.7 ล้านคน ซึ่งไม่มีข้อมูลจำนวน ของคนหูหนวกทั้งหมด แต่คนพิการทางการได้ยินนั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลและการบริการในด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ได้เพียงเล็กน้อย

วัตถุประสงค์ของ “เราได้ยินคุณ” คือ

  • การพัฒนาและใช้อภิธานศัพท์ภาษามือเพื่อลดช่องว่างในการสื่อสารของคนพิการทางการได้ยินที่ต้องเผชิญใน ประเทศศรีลังกา
  • เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลและการบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ถูกต้อง โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงและเด็กหญิงที่พิการทางการได้ยิน ซึ่งพวกเธอต้องเผชิญกับการตีตราและการเลือกปฏิบัติ อันเนื่องจากอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นในสังคมของประเทศศรีลังกา


ระเบียบวิธี คือ

  • ความท้าทายเรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่คนพิการทางการได้ยินต้องถูกระบุผ่านการปรึกษาหารือระดับชาติ และการอภิปรายกลุ่มที่ดำเนินการร่วมกับสมาพันธ์กลางศรีลังกาเพื่อคนหูหนวก และโรงเรียนคนหูหนวกแห่งชาติ
  • การจ้างล่ามมืออาชีพเพื่อความสะดวกในการสนทนา
  • จากข้อมูลที่รวบรวมได้เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงสังคมสงเคราะห์ และเมื่อได้รับความเห็นชอบจะมีการแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ซึ่งรวมถึงล่ามภาษามือที่ผ่านการฝึกอบรม และเยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เพื่อพัฒนาและสรุปอภิธานศัพท์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์
  • กระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการในประเทศศรีลังกา ได้เปิดตัวอภิธานศัพท์ภาษามือครั้งแรก จำนวน 234 คำ ในเรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ในวันคนพิการสากลในปี พ.ศ. 2558
  • กลุ่มล่ามมืออาชีพได้รับการฝึกอบรมเรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ผ่านโปรแกรมการฝึกอบรมผู้สอน


ข้อค้นพบจากการให้คำปรึกษาพบว่าในวัยรุ่นที่พิการทางการได้ยิน จำนวน 70 คน นั้น มี 18.0% ที่รู้จักยาคุมกำเนิดมากกว่า 3 ชนิด ในขณะที่ 42% รู้จักยาคุมกำเนิด 2 ชนิด แต่มีเพียง 12% เท่านั้น ที่รู้วิธีการคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง โดยผู้ชาย 53% รู้ว่าการใช้ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันเชื้อเอชไอวีได้ ซึ่งมีผู้หญิงเพียง 35% เท่านั้นที่ทราบ โดยอุปสรรคในการรับข้อมูลที่ถูกต้อง คือการสื่อสารที่น้อย การขาดแคลนของข้อมูล และการตีตราในศูนย์บริการสุขภาพ

ล่ามภาษามือ 20 คน ได้ใช้คำอภิธานศัพท์เรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะและพัฒนาทัศนคติให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความรู้สึกอ่อนไหวจำนวนประมาณ 140 คน ซึ่งมาจากกระทรวงการศึกษา สุขภาพ กิจการเยาวชน และกิจการสตรี ครูใหญ่ และครูจากโรงเรียนคนหูหนวก และสมาชิกของกองกำลังตำรวจ

โดยกระทรวงได้ส่งร่างพระราชบัญญัติให้ยอมรับภาษามือเป็นภาษาราชการในประเทศศรีลังกา ซึ่งจะทำให้คนหูหนวกเข้าถึงการศึกษาและการบริการ รวมถึงสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ได้โดยปราศจากการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งโรงเรียนคนหูหนวก คลินิกสุขภาพของรัฐบาลหลายแห่งได้ใช้คำอภิธานศัพท์ ในการสอน การให้การบริการและการจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์สำหรับคนพิการทางการได้ยิน

โดยขั้นตอนต่อไปนั้น เป็นการให้ร่วมมือกันเพื่อค้นหาชิ้นส่วนที่หายไป สนับสนุนความพยายามในประเทศรวันดา ในประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย และในโรงเรียน โดยให้แปลเป็นภาษาอื่น ๆ รวมถึงคำปรับปรุงอภิธานศัพท์

วารุณี ขัติเตมี
รายงาน 

Warunee Kuthithamee วารุณี ขัติเตมี รายงาน
16 November 2020