การประชุมออนไลน์ครั้งที่ 12 ของการประชุมเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 10 เรื่อง เอชไอวี/เอดส์ และสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ในเอเชียและแปซิฟิก อันเนื่องในโอกาสวันเอดส์โลก และช่วงเวลา 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

Warunee Kuthithamee วารุณี ขัติเตมี รายงาน

การประชุมออนไลน์ครั้งที่ 12 ของการประชุมเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 10 เรื่อง เอชไอวี/เอดส์ และสุขภาพและสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ในเอเชียและแปซิฟิก อันเนื่องในโอกาสวันเอดส์โลก และช่วงเวลา 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ 

วันเอดส์โลก (World AIDS Day) นั้น โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เป็นวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อรณรงค์ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ และเพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ

สำหรับประเทศไทยนั้นสภากาชาดไทยได้กำหนดแนวคิดการรณรงค์ เนื่องในวันเอดส์โลกปี พ.ศ. 2563 ว่า “เอดส์ อยู่ร่วมกันได้ ไม่ตีตรา” ซึ่งสอดรับกับคำขวัญของ UNAIDS หรือโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติว่า “Global solidarity, shared responsibility” ซึ่งหมายความว่า “การสมัครสมาน รวมพลังร่วมรับผิดชอบ” โดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโรคเอดส์ รวมทั้งกระตุ้นเตือนให้ประชาชนมีความตระหนักถึงปัญหาเอดส์ และให้ความสำคัญในการร่วมมือ ป้องกัน แก้ไขปัญหา รวมถึงการไม่เลือกปฏิบัติ และลดการตีตรา ลดการรังเกียจกีดกันผู้ติดเชื้อด้วย

UN Women หรือ องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม เป็นช่วงเวลา 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (16 Days of Activism against Gender-Based Violence) โดยมีเป้าหมายหลักคือการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อผลักดันให้ผู้หญิงกล้าออกมาพูดเกี่ยวกับการถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น โดย UN Women ออกแคมเปญในประเทศไทย ชื่อ “HEAR ME TOO” หรือ “มีอะไรจะบอก” เพื่อรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย และรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวในการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรง ผลักดันให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคมไทยโดยใช้สีส้มเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์ ซึ่งเป้าหมายหลัก คือ เพื่อสนับสนุนความกล้าที่จะลุกขึ้นแบ่งปันเรื่องราวการถูกกระทำความรุนแรงในผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตนเองหรือคนใกล้ตัว ผ่านมุมมองที่ช่วยให้เธอเหล่านั้นก้าวผ่านเรื่องเลวร้ายในอดีตมาได้ และเป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิงคนอื่น ๆ กล้าที่จะยืนหยัดในสิทธิของตนเอง เพื่อสร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย

Eamonn Murphy, ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิกของ UNAIDS นำเสนอว่า ในประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิกนั้นมีแนวโน้มในการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ และการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งอัตราการเปลี่ยนแปลงของการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ปี พ.ศ. 2553 - 2562 ในภูมิภาคโดยรวมเท่ากับ -12% ยังมีอัตราส่วนที่แตกต่างกันระหว่างประเทศเช่น ประเทศฟิลิปปินส์ 207% และประเทศสิงคโปร์ -81% โดยมี 12 ประเทศที่ลดลง และ 7 ประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในภูมิภาคโดยรวมนั้น มีการเปลี่ยนแปลงของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์อยู่ที่ -29% โดยมีอัตราส่วนที่ต่างกัน คือ จากประเทศปากีสถาน 405% ถึงประเทศอินเดีย -66% ในปีพ.ศ. 2562 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 98% ที่อยู่ในกลุ่มประชากรหลักและคู่ โดยมีกลุ่มชายรักชาย 44%, ลูกค้าของพนักงานบริการและคู่ของประชากรหลัก 21%, ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด 17%, พนักงานบริการ 9%, คนข้ามเพศ 7%, และประชากรที่เหลือ 2% โดยกลุ่มคนที่มีอายุ 15-24 ปี ที่มีตัวเลขสอดคล้องกัน 52%, 19%, 10%, 10%, และ 1% ตามลำดับ ซึ่งโดยรวมนั้น 99% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้ อยู่ในกลุ่มประชากรหลักและคู่ของพวกเขา

ในปี พ.ศ. 2563 UNAIDS มีเป้าหมายที่ “90-90-90” โดย

  • 90 แรก คือ 90% ของผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่และได้รับการวินิจฉัย หมายถึงคนที่ติดเชื้อ 100 คน ต้องรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ 90 คน
  • 90 ที่สอง คือ 90% ของผู้ติดเชื้อที่ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส หมายถึงคนที่ติดเชื้อ 90 คน ต้องได้รับยา
  • 90 สุดท้าย คือ 90% ของผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้าน กดไวรัสสำเร็จ หมายถึงคนที่ได้รับยา 90 คน ต้องกดไวรัสสำเร็จ

ซึ่งปี พ.ศ. 2562 ในเอเชียและแปซิฟิกมีเป้าหมายที่ 90-81-73 โดยในกลุ่มเด็ก 72-65-54 ในกลุ่มผู้หญิง 78-64-59 และในกลุ่มผู้ชาย 73-57-52 ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จ คือ ประเทศออสเตรเลียที่บรรลุเป้าหมายทั้งสาม ส่วนประเทศนิวซีแลนด์บรรลุเป้าหมายที่ 2 สุดท้ายประเทศกัมพูชาและไทยบรรลุเป้าหมายที่ 2 และ 3

ประเทศกัมพูชาได้ทำการสำรวจผู้มีเชื้อเอชไอวีระดับประเทศ พบว่าไม่สามารถเข้าถึงการบริการคุมกำเนิดได้ 37% และไม่สามารถรับถุงยางอนามัยได้ 22% ซึ่งบางรายไม่สามารถเข้าถึงยาสำหรับการติดเชื้อของโรคฉวยโอกาส และจากการสำรวจประชากรหลักพบว่า ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น 19%, ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการวินิจฉัยและการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 35%, ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ PrEP 53%, และขาดข้อมูลเกี่ยวกับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต 50%

ส่วนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นั้น

  • กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเพศวิถี อัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศ ส่งผลให้สุขภาพแย่ลง อันเนื่องจากผู้คนอาจหลีกเลี่ยงการเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพ เพราะกลัวการถูกจับกุมหรือความรุนแรง
  • ในประเทศพม่า ฟิลิปปินส์และเวียดนามนั้น หญิงข้ามเพศรายงานว่ามีปัญหาความล่าช้าในการเข้าถึงการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน

ก้าวต่อไปนั้นควรพิจารณาเรื่อง

  • สำรวจวิธีอื่น ๆ ในการให้บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยและการจัดการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการบำบัดด้วยฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ
  • ขยายความพร้อมในการบริการของการป้องกันเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผ่านร้านขายยา ร้านขายยาออนไลน์ และร้านค้าอื่น ๆ
  • ส่งเสริมทางเลือกที่เป็นนวัตกรรม และร้านขายถุงยางอนามัยแบบใหม่ เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงของทุกคนโดยเฉพาะพนักงานบริการและกลุ่มประชากรหลักอื่น ๆ

Samreen จากองค์กร Asia Pacific transgender network: APTN ได้นำเสนอเรื่อง “การทำความเข้าใจและจัดการกับผลกระทบด้านสุขภาพของคนข้ามเพศและการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศและคนหลากหลายทางเพศ ในประเทศอินโดนีเซีย เนปาล ไทยและเวียดนาม”

โดยมีวัตถุประสงค์

  • เพื่อทำการวิจัยที่นำโดยชุมชน สำหรับในด้านอุปสรรคของการเข้าถึงเอชไอวีและการบริการด้านการดูแลสุขภาพอื่น ๆ รวมถึงสุขภาพทางเพศและการดูแลสุขภาพทั่วไปสำหรับคนข้ามเพศในประเทศอินโดนีเซีย เนปาล ไทย และเวียดนาม
  • กำหนดวิธีขจัดอุปสรรคเหล่านี้ผ่านการเสริมพลังของชุมชน

วิธีการดำเนินการ

เป็นการวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยเป็นการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย และการสนทนากลุ่ม ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมีจำนวน 250 คน ในแต่ละประเทศ

ผลการวิจัยที่สำคัญด้านสุขภาพทางเพศและเอชไอวี ได้แก่

  • คนข้ามเพศส่วนใหญ่ทั่วทุกประเทศ มีความตระหนักถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี
  • มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยและเกือบทุกคนได้รับยาต้านแล้ว
  • พนักงานบริการมีแนวโน้มที่จะได้รับการทดสอบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในทั้งสามประเทศ ยกเว้นประประเทศเวียดนาม ซึ่งองค์กรชุมชนเป็นสถานที่ในการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • หญิงข้ามเพศได้มีการทดสอบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวีสูงกว่าเมื่อเทียบกับชายข้ามเพศ แต่ในประเทศเวียดนามมีชายข้ามเพศได้ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นจำนวนมากขึ้น
  • การใช้วิธีการรักษาเชิงป้องกันและวิธีการป้องกันโรค เช่น การใช้ PEP และ PrEP อยู่ในระดับต่ำทั้งสี่ประเทศ
  • สถานะของเอชไอวีอาจมีผลต่อผู้ป่วยข้ามเพศที่อาจจะถูกปฏิเสธการรักษา ผู้มีเชื้อเอชไอวีในประเทศเนปาลและอินโดนีเซียบอกว่าพวกเขาประสบกับความเครียดของการเลือกปฏิบัติต่อการเป็นคนข้ามเพศและผู้มีเชื้อเอชไอวี
  • การถูกเลือกปฏิบัติในการบริการด้านเอชไอวีทำให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยทั่วไปในประเทศเนปาลและอินโดนีเซียล่าช้า แต่ไม่ใช่ในประเทศไทยหรือเวียดนาม

ผลการวิจัยที่สำคัญที่เกิดช่องว่าง ได้แก่

  • สิทธิด้านสุขภาพของคนข้ามเพศถูกทำลายในทั่วภูมิภาค เนื่องจากมีช่องว่างในการให้บริการ การเลือกปฏิบัติและอุปสรรคที่ยากต่อการเข้าถึงปัญหาและการยอมรับ เนื่องจากขาดคำแนะนำเกี่ยวกับการให้บริการที่มีคุณภาพและเหมาะสมสำหรับคนข้ามเพศ
  • การตีตราและการเลือกปฏิบัติ ได้จำกัดการเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพทั่วไปของคนข้ามเพศ ซึ่งคนข้ามเพศที่มีเชื้อเอชไอวีจะถูกตีตราสองครั้ง จากสถานะเอชไอวีและอัตลักษณ์ทางเพศ
  • คนข้ามเพศต้องการบริการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต
  • มีช่องว่างในบริการด้านสุขภาพทางเพศ รวมถึงบริการป้องกันและรักษาเอชไอวีสำหรับหญิงข้ามเพศ แต่ไม่มีสำหรับชายข้ามเพศ

ด้านคำแนะนำนั้น ได้มุ่งเน้นไปที่ขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการด้านสุขภาพและ องค์กรชุมชน ที่ต้องดำเนินการ ได้แก่

  • จัดการกับการเลือกปฏิบัติและปรับปรุงการบริการด้านการดูแลสุขภาพต่อคนข้ามเพศ
  • ระบุข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสุขภาพของคนข้ามเพศ
  • คนข้ามเพศสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้อย่างเท่าเทียม
  • คนข้ามเพศเข้าถึงบริการเอชไอวีและสุขภาพทางเพศอย่างเท่าเทียม
  • ปรับปรุงการเข้าถึงการดูแลเรื่องเพศสภาพของคนข้ามเพศ

โดยประเทศไทยเอง ได้ทำการสำรวจ IBBS (ระบบเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ร่วมกับพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี) ในปี พ.ศ. 2561 พบว่า กลุ่มประชากรหลักต้องพบปัญหาการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติโดยครอบครัว สถานที่ทำงาน สถานศึกษา สถานบริการสุขภาพ โดยกลุ่มหญิงข้ามเพศพบปัญหามากที่สุดในสถานที่ทำงาน สถานศึกษา ร้อยละ 12.11, ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย ร้อยละ 4.99 และในการรับบริการด้านสุขภาพ โดยพบว่า พนักงานบริการชายตัดสินใจ ไปเข้ารับบริการสุขภาพล่าช้าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาสูงถึง ร้อยละ 4.71 รองลงมา คือ กลุ่มหญิงข้ามเพศ ร้อยละ 4.39, ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย ร้อยละ 3.28, การตีตราตนเองมากที่สุด ร้อยละ 17.14 ในพนักงานบริการชาย รองลงมาในชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย ร้อยละ 14.27 และกลุ่มหญิงข้ามเพศ ร้อยละ 9 ซึ่งมีประสบการณ์ ถูกล่วงละเมิดหรือกระทำความรุนแรงทางเพศ สูงถึง ร้อยละ 8.99 ในกลุ่มหญิงข้ามเพศ รองลงมา คือชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย พนักงานบริการชาย และพนักงานบริการหญิง ร้อยละ 7.39, 7.12 และ 5.60 ตามลำดับ

วารุณี ขัติเตมี
รายงาน 

Warunee Kuthithamee วารุณี ขัติเตมี รายงาน
3 December 2020